Sharing a Silver and Silk Passion for Design and Traditions

สัมผัสเสน่ห์เครื่องเงินและไหมสู่งานดีไซน์ต่อยอดวัฒนธรรม

สตอรี่ออฟซิลเวอร์แอนด์ซิลค์เริ่มต้นขึ้นจากความหลงใหลในการออกแบบและภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิม

โควิดผลักดันให้บริษัทเน้นการทำตลาดออนไลน์มากขึ้น

ธุรกิจสนับสนุนสังคมและสิ่งแวดล้อม

“สตอรี่ออฟซิลเวอร์แอนด์ซิลค์” ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 2555 จากผู้หญิงสองคนที่ต่างต้องการทำงานดีไซน์เพื่อช่วยอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นและองค์ความรู้ที่สืบทอดต่อกันมา

คุณฐิตาภา ตันสกุล ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้จัดการทั่วไปของ สตอรี่ออฟซิลเวอร์แอนด์ซิลค์ เล่าถึงความเป็นมาของแบรนด์ว่า “ทุกอย่างเริ่มต้นจากเรามีความหลงใหลสิ่งเดียวกันคือการออกแบบและความรู้ที่สืบทอดต่อกันมา สำหรับเราแล้ว เครื่องเงินและไหมสื่อถึงความเป็นเอเชีย ดังนั้น สตอรี่ออฟซิลเวอร์แอนด์ซิลค์จึงสร้างสรรค์งานเครื่องเงินแฮนด์เมดที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวโดยฝีมือช่างชาวเขาในท้องถิ่นของไทย” 

คุณฐิตาภาได้ทำงานร่วมกับผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์คือ คุณลูเซีย แปราโก ดีไซเนอร์ชาวสโลเวเนีย ผู้ตกหลุมรักเมืองไทยและมาปักหลักอยู่ที่นี่นานกว่า 10 ปี ทั้งคู่ต่างมีแรงบันดาลใจและความเชื่อในการทำงานที่เหมือนกัน

“โดยปกติ ช่างทำเครื่องเงินได้ถ่ายทอดองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น ความเชี่ยวชาญและทักษะของช่างรังสรรค์ให้ไอเดียดีไซน์ของเรามีชีวิตขึ้นมาจริงๆ

ผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นเป็นงานฝีมือเครื่องเงินที่ใช้อุปกรณ์และเทคนิคช่างชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยงในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยที่สืบทอดต่อกันมานานนับศตวรรษ

งานหลายชิ้นเริ่มต้นจากการตัดแผ่นเงินให้เป็นรูปเป็นร่างตามที่ต้องการ จากนั้นจึงนำแผ่นเงินไปผสมกับโลหะอื่นเพื่อเพิ่มความทนทาน ซึ่งมักจะใช้ส่วนผสมทองเหลืองเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับเครื่องเงิน และจะไม่ใช้นิกเกิลเป็นส่วนผสมเลย ความพิเศษของเครื่องเงินแบรนด์นี้คือผิวสัมผัสเงินเนื้อด้าน

“การเพิ่มแพทเทิร์นเป็นวิธีปรับผิวสัมผัสเครื่องเงินได้ดีมาก และผลลัพธ์ที่ได้ก็เหนือความคาดคิดและมีความพิเศษ เรายังได้พัฒนาเทคนิคสร้างผิวสัมผัสของตัวเองด้วยการทำลวดลายบนพื้นผิวเนื้อเงินจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ลายจากเมล็ดต้นหางนกยูง”

ปัจจุบัน สตอรี่ออฟซิลเวอร์แอนด์ซิลค์มีลูกค้าคนไทย 30% และลูกค้าต่างชาติ 70% ซึ่งอยู่ในสหรัฐอเมริกา, เยอรมนี, อิตาลี, สหราชอาณาจักร, ออสเตรเลีย, แคนาดา, จีน, ไต้หวัน และฮ่องกง ซึ่งตลาดเอเชียกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

ก่อนหน้านี้ บริษัทฯ เน้นการทำตลาดออฟไลน์ แต่วิกฤตโควิดได้เปลี่ยนแปลงทุกอย่าง “เรามีโอกาสได้ร่วมงานอีเวนต์กับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เช่น งานMaison & Objet, Milan Design Week, งาน Taiwan Design Week และงานSingapore’s The Finest Thai แต่หลังโควิดระบาดทั่วโลก เราจำเป็นต้องทำตลาดออนไลน์เชิงรุกมากขึ้น โดยใช้เว็บไซต์ของแบรนด์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และไลน์ โอเอ เป็นช่องทางหาลูกค้าใหม่และรักษาฐานลูกค้าเก่าไว้ อีกทั้งยังทำตลาดในมาร์เก็ตเพลซอื่นๆ เช่น  Etsy และ Pinkoi”

นอกจากสร้างสรรค์งานฝีมือแล้ว สตอรี่ออฟซิลเวอร์แอนด์ซิลค์ก็หวังช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมด้วยการสร้างโอกาสให้กับแรงงานรายได้น้อยในชุมชนชนบทให้สามารถใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนโดยไม่กระทบวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม

“ช่างทำเครื่องเงินของเราส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่มีรายได้ตามฤดูกาล เราส่งเสริมพวกเขาให้มีอาชีพพิเศษเพื่อมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการทำเครื่องประดับ ทำให้มีรายได้พิเศษตลอดทั้งปี”

คุณฐิตาภา เชื่อว่า ปัจจุบัน ธุรกิจไม่สามารถสนใจแต่รายได้เพียงอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงการสนับสนุนสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย

“การคิดแบบนี้ทำให้ธุรกิจของเราแข็งแกร่งและมีมุมมองที่กว้างขึ้น การให้สังคมและชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในธุรกิจของเรานั้นจะต้องสร้างความเข้าใจร่วมกันว่าสิ่งแวดล้อมส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนเราอย่างไรบ้าง และนี่เป็นโอกาสที่ดีให้เราได้เรียนรู้”

สำหรับผู้สนใจผลิตภัณฑ์เครื่องประดับ เตรียมพบกับ Bangkok Gems & Jewellery Fair (BGJF) หนึ่งในงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกและจัดต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน โดยปีนี้ DITP จะจัดงานระหว่างวันที่ 7-11 กันยายน 2565 ผู้สนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.bkkgems.com/ 

สำหรับผู้สนใจผลิตภัณฑ์สตอรี่ออฟซิลเวอร์แอนด์ซิลค์ สามารถดูข้อมูลได้ที่ https://storiesofsilversilk.com/ 

บทความโดย ณัฐิณี รัตนประสิทธิ์

ขอบคุณภาพประกอบจาก สตอรี่ออฟซิลเวอร์แอนด์ซิลค์